หนังสือเดินทาง (Passport) เป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงรายละเอียดของบุคคล ที่จะเดินทางไปต่างประเทศโดยจะระบุ ชื่อผู้เดินทาง ลายมือชื่อ รูปถ่าย อายุ สัญชาติ ศาสนา อาชีพ เลขที่หนังสือเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ไปต่างประเทศ และเป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้เป็นหลักฐานที่จะขอหนังสือตรวจลงตรา (Visa) เข้าประเทศต่าง ๆโดยกรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้มีอำนาจในการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวโดยแบ่งประเภทของหนังสือเดินทางออกเป็น4 ประเภท ดังนี้

ประเภทของหนังสือเดินทาง

1. หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic) เล่ม D
2. หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) เล่ม F
3. หนังสือเดินทางยกเว้นค่าธรรมเนียม (Gratis) เล่ม G
4. หนังสือเดินทาง (Passport) เล่ม Y

1. หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic) เล่มสีแดงสด
หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic) ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้

–  พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
–  พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
–  พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
–  ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
–  นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
–  ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
–  ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
–  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
–  อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
–  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
–  ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
–  ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
–  คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
–  บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย

2. หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) เล่มสีน้ำเงิน
หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว โดยมีข้อกำหนดออกเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ

3. หนังสือเดินทาง (Passport) เล่มสีเลือดหมู
หนังสือเดินทาง (Passport) เป็นหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนทั่วไป หรือข้าราชการ / พนักงานของรัฐ สามารถใช้ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศด้วยกิจธุระส่วนตัว หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี

4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว)
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ประเภทพิเศษ คือ

1. หนังสือเดินทางพระ ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม

2. หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น

ขั้นตอนในการขอหนังสือเดินทางราชการ

1. ได้รับหนังสือตอบรับ / หนังสือเชิญเพื่อไปปฏิบัติราชการ ณ ต่างประเทศ จากหน่วยงานหรือสถาบันต่างประเทศ ที่ผู้เดินทางกำหนดเยือน

2. เสนอเรื่องขออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศ (โดยแจ้งผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หากเป็นกรณีศึกษาต่อให้แจ้งแหล่งทุนที่ได้รับ) ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดไปยังอธิการบดี ดังนี้

 2.1 กรณีเดินทางไปศึกษาต่อ / ฝึกอบรม / ทำวิจัยให้ผ่านเรื่องจากต้นสังกัดไปยังงาน การกองบริหารงานบุคคล กองคลัง อธิการบดี /ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
2.2 กรณีเดินทางไปประชุม / สัมมนา / ศึกษาดูงาน ให้ผ่านเรื่องจากต้นสังกัดไปยัง การกองบริหารงานบุคคล กองคลัง อธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

ขั้นตอนและเอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางใหม่

1. สำเนาหนังสืออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศ
สำเนาหนังสืออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศจากหน่วยงานต้นสังกัดโดยต้องระบุรายละเอียดของผู้ที่จะเดินทางคือ ชื่อ นามสกุล ตำแหน่งทางวิชาการ (ถ้ามี) ระดับ ตำแหน่งทางบริหาร (ถ้ามี) และสังกัด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเดินทาง วันเดินทาง ไป-กลับ ประเทศ สถานที่ที่จะเดินทางไปเยือน และระบุแหล่งทุนที่ได้รับ

2. สำเนาบัตรข้าราชการ / พนักงานมหาวิทยาลัย / ลูกจ้างชั่วคราว
สำเนาบัตรข้าราชการ / พนักงาน ต้องเป็นสำเนาบัตรที่ยังไม่หมดอายุ หากบัตรหมดอายุต้องทำบัตรใหม่ ยกเว้นกรณีเร่งด่วนอนุญาตให้ใช้หนังสือรับรองการปฏิบัติงานแทนได้ (หรือถ้ามีสำเนาบัตรเก่าให้แนบสำเนาบัตรเก่าด้วย) หากเป็นข้าราชการผู้เกษียณอายุต้องใช้บัตรผู้บริหารหรือบัตรผู้เกษียณอายุราชการ พร้อมแนบสำเนาคำสั่งแต่งตั้ง หากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างชั่วคราวต้องใช้สำเนาสัญญาจ้าง พร้อมแนบหนังสือรับรองการทำงานด้วย

3. สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาทะเบียนบ้านให้สำเนาหน้าที่มีรายการเกี่ยวกับบ้าน และหน้าที่มีชื่อผู้เดินทาง ซึ่งมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ไม่อนุญาตให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านแบบเก่าเนื่องจากไม่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน)

4. สำเนาทะเบียนสมรส / ใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล
สำเนาทะเบียนสมรส / ใบเปลี่ยนชื่อ – สกุลใช้ในการต่ออายุหนังสือเดินทางราชการในกรณีที่เคยมีหนังสือเดินทางเล่มแรกที่ชื่อ-สกุล ไม่ตรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงชื่อ

กรณีหนังสือเดินทางราชการสูญหาย

1. แจ้งความ ณ สถานีตำรวจ
2. นำใบแจ้งความแนบพร้อมกับเอกสารการขอหนังสือเดินทางราชการใหม่

หนังสือเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตรา

หนังสือเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราเป็นเอกสารสำคัญที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางไปราชการต่างประเทศ ยื่นขอการตรวจลงตรา (Visa) ณ สถานทูตประเทศที่ประสงค์จะเดินทาง โดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้มีอำนาจในการออกหนังสือดังกล่าว ทั้งนี้ งานวิเทศสัมพันธ์ จะเป็นผู้ออกหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้ดังนี้

1. กรณีที่หนังสือเดินทางราชการยังไม่หมดอายุ หรือมีอายุเกิน 6 เดือน นับถึงวันที่จะเดินทางไปราชการต่างประเทศ
2. กรณีที่หนังสือเดินทางราชการหมดอายุ จะดำเนินการพร้อมกับการต่ออายุหนังสือเดินทางราชการ
3. กรณีที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางราชการ จะดำเนินการพร้อมกับการขอหนังสือเดินทางราชการใหม่

เอกสารประกอบการขอหนังสือเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราไปยังกระทรวงการต่างประเทศ

1. สำเนาหนังสือขออนุมัติการไปราชการต่างประเทศ
2. หนังสือเชิญ / หนังสือตอบรับ
3. สำเนาหนังสือเดินทางหน้าที่มีรูปถ่ายและหน้าที่บอกวันหมดอายุ พร้อมสำเนาถูกต้อง (ในกรณีที่หนังสือเดินทางราชการมีอายุเกิน 6 เดือน)

การดำเนินการขอวีซ่า ณ สถานทูต

นำหนังสืออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราจากกระทรวงการต่างประเทศ ไปยังสถานทูตนั้นๆ พร้อมเอกสาร ดังนี้

1. หนังสือเดินทางเล่มจริง
2. แบบฟอร์มวีซ่า
3. หนังสือตอบรับ / หนังสือเชิญ
4. รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1-2 รูป ขึ้นอยู่กับสถานทูตนั้นๆ
5. ค่าธรรมเนียมวีซ่า

RMUTT